เงินบาทแข็งค่า หลังมีสัญญาณเชิงบวกในการเจรจา “รัสเซีย-ยูเครน”

0 Comments

“เงินบาทแข็งค่า หลังเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกในการเจรจารัสเซีย-ยูเครน” ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศกนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/3) ที่ระดับ 33.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/3) ที่ระดับ 33.71/73 บาท หลังนายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กรุงอิสตันบูลในวันนี้ ถือได้ว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดนับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มการเจรจาเป็นต้นมา

นายคาวูโซกลูกล่าวว่า ตุรกีมีความยินดีที่รัสเซียและยูเครนสามารถบรรลุข้อตกลงประนีประนอมในบางประเด็น และสงครามจะต้องสิ้นสุดลงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นายคาวูโซกลูยังระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียและยูเครนจะหารือกันในโอกาสต่อไปเกี่ยวกับประเด็นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ก่อนที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนจะพบปะกันในที่สุด

ทางด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า รัสเซียจะลดปฏิบัติการทางทหาร “ลงอย่างมาก” รอบกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน รวมทั้งเมืองเชอร์นิฮิฟ ทั้งนี้ นายอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียประกาศลดปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวเพื่อเพิ่มความไว้วางใจระหว่างรัสเซียและยูเครน และเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเจรจาสันติภาพในครั้งต่อไปของทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ นายโฟมินยังเปิดเผยว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กรุงอิสตันบูลในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายประสบความคืบหน้าอย่างมากในการจัดทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสถานะเป็นกลางและปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครน รวมทั้งการรับประกันความมั่นคงสำหรับยูเครน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี’65 และ ปี’66 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี’65 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย ก่อนจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี’66 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ

จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า อยู่ในกรอบระหว่าง 33.29-33.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (30/3) ที่ระดับ 1.1103/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/3) ที่ระดับ 1.1040/42 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น หลังสัญญาณเชิงบวกในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0945-1.1161 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1134/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/3) ที่ระดับ 122.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/3) ที่ระดับ 123.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า การดำเนินการรายวันของ BOJ ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงและโดยตรงต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน

คำชี้แจงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ BOJ ได้เสนอซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่เมื่อวันจันทร์ (28 มี.ค.) ซึ่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

นายคุโรดะเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังจากเข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะว่า ความเคลื่อนไหวของเงินเยนควรเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ และควรสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 121.32-122.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 121.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตเดือน มี.ค. รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล และข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ไตรมาส 4/2564

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance