ย้อนรอยวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองกับ 2 อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ธาริษา-วิรไท”

0 Comments

2 อดีตผู้ว่าการ ธปท. “ธาริษา-วิรไท” พาย้อนวิกฤตการเงินปี’40 เผชิญมรสุมค่าเงินบาทแข็งค่า-เครื่องยนต์เศรษฐกิจไม่ทำงาน-ธนาคารกลางขาดความน่าเชื่อถือ เร่งสางปัญหาอัดมาตรการกั้นสำรอง 30% พยุงบาท พร้อมโดนการเมืองแทรกแซง แนะธรรมาภิบาลคือหัวใจสำคัญควบคู่เสถียรภาพระบบการเงิน

วันที่ 5 เมษายน 2565 ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” Governor’s Talk ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า นับตั้งแต่ทำงานมา 35 ปี ได้เคยผ่านวิกฤตมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ วิกฤตต้มยำกุ้งปี’40 และวิกฤตการเงินโลกในปี’51 โดยวิกฤตในปี’40 มีเรื่องที่ ธปท.ต้องแก้เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องของความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องสร้างผลงานให้ปรากฏ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเวลานั้น

โดยตำแหน่ง “ผู้ว่าการ ธปท.” ไม่ว่าเป็นคนไหน ล้วนแต่มีความท้าทายทั้งสิ้น ทั้งสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและการเมือง

ใช้ยาแรงพยุงเงินบาทแข็งค่าเร็ว
ทั้งนี้ ในด้านเศรษฐกิจ ตอนที่ได้รับตำแหน่ง ปัญหาแรก คือ บาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และเครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นไม่ทำงานเลย มีแต่ส่งออกที่เป็นพระเอก โดยในช่วงนั้นเกิดรัฐประหาร ความเชื่อมั่นต่ำ จึงมีแต่พระเอกตัวเดียว คือ ส่งออก แต่ค่าเงินกลับไปในทิศทางเดียว โดยแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งค่อนข้างน่ากลัว เนื่องจากไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก หากมีเงินไหลเข้า-ออกจะกระทบรุนแรง หลังจากที่ใช้มาตรการอ่อน ๆ สักระยะ แต่ไม่เวิร์ก จึงจำเป็นต้องใช้ยาแรงผ่านมาตรการกั้นสำรอง 30% ของเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น

“เหตุการณ์ตอนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น และคล่องตัวที่สุด โดย ธปท.ได้ศึกษาประเทศอื่นที่สามารถสกัดเงินได้ระยะหนึ่ง แต่เป็นระยะสั้น เพื่อให้ค่าเงินเคลื่อนไหวใน 2 ทิศทาง และซื้อเวลาหาข้อมูลของเงินไหลเข้า-ออกว่ามีปัจจัยเบื้องหลังอะไรบ้าง”

ทั้งนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ในเรื่องของค่าเงินนั้น จะมีประเด็นที่ ธปท.เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะค่าเงินกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน แต่ ธปท.พยายามเข้าไปช่วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรให้เศรษฐกิจพอที่จะสามารถทำงานได้ยั่งยืน ไม่ได้พึ่งเฉพาะบางตัว เช่น ช่วงโควิด-19 เดิมพึ่งพาภาคท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่จะต้องใช้เครื่องมืออื่นเข้าไปดูแล

“ที่ผ่านมาเราคุยกับภาคเอกชนต่อเนื่องเกี่ยวกับภาคส่งออก เพราะเกี่ยวข้องกับค่าเงิน ซึ่งมีการเสนอให้ดูตัวอย่างจากญี่ปุ่นที่เผชิญค่าเงินแข็งค่าในปี 1985 ให้ดูประสบการณ์ที่สามารถผ่านพ้นและเติบโตได้ แต่ก็ไม่มีแอ็กชั่นใดเกิดขึ้น ดังนั้น หากเครื่องมือดูแลไม่พร้อม แต่ภาระมาอยู่กับ ธปท.จะทำไปแล้วก็ไม่ได้ผลพอสมควร”

ต้องสื่อสารตรงไปตรงมา
สำหรับความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อในปี 2551 พบว่า ในช่วงสามไตรมาสแรกเงินเฟ้อสูงมาก โดยราคาน้ำมันขึ้นไปอยู่ที่ 144 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่า 9% และเงินเฟ้อพื้นฐานทะลุกรอบเป้าหมายอยู่ที่ 3.7% ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณในเดือน พ.ค. ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดแรงถล่ม ธปท.เพราะมองเป็นการซ้ำเติมประชาชน แต่หากมองเงินเฟ้อพื้นฐานทะลุเป้าหมายสะท้อนถึงดีมานด์เศรษฐกิจที่มีอยู่ ไม่ได้เป็น Supply Side ดังนั้น การสื่อสารมีความจำเป็น เพราะจะเห็นว่าหลังมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ต่อปี ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค.แล้ว ประชาชนเองก็ยอมรับ เพียงแต่ ธปท.ต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

ดร.ธาริษากล่าวว่า สำหรับความท้าทายด้านวิกฤตเศรษฐกิจโลกผลพวงน้อยกว่าปี’40 เนื่องจากตอนนั้นไทยอยู่กลางสมรภูมิภูเขาไฟระเบิด แต่ปี’51 วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีอยู่ 2 ด้าน คือ 1.ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งตอนนั้นใช้เงินฝากเป็นแหล่งเงินสำคัญ ไม่ได้พึ่งพา Interbank หลังเกิดวิกฤตสภาพคล่องเหือดหายไป ไม่มีใครกล้าปล่อยกู้จนธนาคารเลห์แมนบราเธอร์สใหญ่อันดับ 4 ของโลกยังอยู่ไม่รอด แต่ไทยกระทบน้อยเพราะไม่ได้พึ่งพาการเงินโลก

และ 2.ผลพวงจากการแก้ปัญหาหลังปี’40 มีการปรับระบบธนาคารพาณิชย์ให้ส่งสัญญาณที่ต้องระมัดระวัง เน้นการบริหารความเสี่ยง อะไรที่มีความเสี่ยงให้ระมัดระวัง ซึ่งในช่วงนั้นสถาบันการเงินสหรัฐมีการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง แต่ไทยเองมีลงทุนอยู่ 2 ธนาคาร แต่มีสัดส่วนน้อย เพราะต้องการลงทุนเพื่อเรียนรู้ โดยมีการยกเครดิตแบงก์หลังปี’40 ที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี

ยืนยันความถูกต้องแม้การเมืองแทรกแซง
ส่วนความท้าทายทางด้านการเมือง หลังจากอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ 4 ปี มีนายกฯ 4 คน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 5 คน เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ใช้นักการเมืองเปลืองมาก อย่างไรก็ตาม มีทั้งผลดีและผลลบ โดยผลดี คือ มี สนช.เข้ามาซึ่งสมาชิกล้วนมาจากภาคการเงิน ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ทำให้เข้าใจในกฎหมายและธุรกิจภายหลังจาก ธปท.มีการเตรียมร่างแก้กฎหมายกันมาหลายเวอร์ชั่น ซึ่งมีการผลักดันด้วยกัน 4 ฉบับ

ด้านลบ คือ เหตุการณ์ที่ฝ่ายการเมืองอยากจะให้คนเข้ามาอยู่ในธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถือหุ้นอยู่ แต่ภายหลังมีการตรวจสอบบุคคลดังกล่าวกลับพบว่ามีประวัติด่างพร้อย เราจึงพยายามหยุด ซึ่งสามารถทำได้ แต่ก็ต้องมีผลพวงเกิดขึ้นจากการถูกสอบสวนในกรณีประมาทเลินเล่อได้ แต่หลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ ข้อนั้นส่วนบกพร่องได้ตกลงไป จึงเป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องยึดหลักความถูกต้อง

พร้อมรับมือความเสี่ยงในอนาคต
และด้านลบการเมืองอีกข้อ คือ จะต้องดูแลระบบให้ดี หลังจากในปี 52-53 มีการประท้วงกับเสื้อหลากสีและมีการลงถนนประท้วงตามจุดต่าง ๆ เช่น ทำเนียบรัฐบาล สนามหลวง และราชดำริ ธปท.ในฐานะดูแลระบบธนาคารพาณิชย์ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และระบบภายในขององค์กรเอง จึงจะต้องมีเรื่องของ Operation Risk ซึ่งจะต้องดูแลพนักงาน ลูกค้าที่มาใช้บริการสาขาในพื้นที่สุ่มเสี่ยง

โดยจะต้องดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดระบบล่มหรือเช็คเด้งในวันรุ่งขึ้น รวมถึงต้องดูแลพนักงาน ธปท.ที่มีความจำเป็น 30% เข้ามาทำงาน หรือการย้ายบางส่วนไปศูนย์สำรอง นอกจากนี้ความเสี่ยงยังมาจากสาเหตุอื่น เช่น ความเสี่ยงทางด้านภัยไซเบอร์ ความเสี่ยงทางด้านเครดิต เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะเตือน ธปท.ไว้ในอนาคต

โลกเผชิญความไม่แน่นอน-ซับซ้อน
ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ได้ดำรงตำแหน่งในช่วงปี’58-63 จะพบว่า 1.โลกเผชิญความผันผวนและไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือบนโลกที่เรียกว่า VUCA 2.อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนสูง หรือ Search for Yield นำมาสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าควร และจากปัจจัยภายนอกทั้งจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และการทำนโยบายการเงินจนมากระทบเราโดยไม่ตั้งใจ

ดังนั้น ในด้านเสถียรภาพ ธปท.จะต้องมาดูว่าการแสวงหาผลตอบแทนสูงและภาวะดอกเบี้ยต่ำ จะเกิดอะไร โดยเป็นธนาคารเงา หรือ Shadow Bank หรือ Nonbank เพราะกฎเกณฑ์การเงินไม่เข้มข้นเท่าธนาคารพาณิชย์ เพราะเงินเหมือนน้ำจะไหลไปในที่มีผลตอบแทนสูงและกฎเกณฑ์น้อย

3 ความเสี่ยงกระทบเสถียรภาพ
โดยหากพิจารณาดูจะพบว่ามีความเสี่ยง 3 ด้าน คือ 1.ตลาดการเงิน ซึ่งจะพบว่ามีปัญหาเรื่องพันธบัตรที่ไม่มีการจัดอันดับ หรือให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ที่ออกช่วงสั้นเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ไม่สามารถชำระได้ และเพื่อไม่ให้เกิดการลามในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ธปท.ได้ออกมาตรการในเดือน เม.ย.63 รวมถึงมีเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉุกเฉินในการลดดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้ไฟลามทุ่งหากไม่สามารถหยุดได้

2.สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเริ่มเห็นการดึงเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกฎเกณฑ์การควบคุมมีปัญหา ทั้งเรื่องการบริหารความเสี่ยง และการทุจริต อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เข้าไปช่วยตรวจสอบ และ 3.สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ที่มีการทำนโยบายกึ่งประชานิยม ซึ่งมีการบันทึกความเสียหายจากการทำนโยบายไว้ที่ SFIs แบบไม่ตรงไปตรงมา ทำให้ธปท.เข้าไปมีบทบาทในการดูแล SFIs เพื่อออกเกณฑ์กำกับดูแลความเสี่ยง

เร่งกำกับก่อนไฟลามทุ่ง
ทั้งนี้ หากกลับมาดูเรื่องที่ไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่หากปล่อยไว้ก็จะเป็นปัญหา ได้แก่ 1.หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งธปท.ก็หวังว่าจะออกมาตรการหลาย ๆ ด้านออกมา ในการดูแลความเสี่ยงหรือมาตรการ Macro Prudential เช่น มาตรการบัตรเครดิต มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) มาจากปรากฏการณ์สินเชื่อเงินทอน โดยให้ราคาเกินกว่าความเป็นจริง เช่น ราคาบ้าน 100 บาท แต่ให้สินเชื่อท็อปอัพ 120 บาท เป็นต้น ดังนั้น หากปล่อยไว้จะเป็นระเบิดเวลา และหากเกิดระเบิดขึ้นมาจะใช้ต้นทุนทั้งระบบในการจัดการทีหลังค่อนข้างสูงมาก

“โจทย์เสถียรภาพระบบการเงินจะมีความแตกต่างจากสถาบันการเงิน จึงเป็นที่มา จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลาม”

สำหรับด้านพัฒนา เมื่อด้านเสถียรภาพอยู่ในระดับที่ดีแล้ว ธปท.จะต้องมองให้ไกลขึ้น คือ 1.ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบือน หากสะสมอยู่เรื่อย ๆ จะมีผลต่อการแข่งขันของประเทศ ผลิตภาพ และความเหลื่อมล้ำ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธปท.พยายามให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน

เช่น ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างระบบนิเวศให้สามารถตอบโจทย์คนตัวเล็กที่ถูกมองข้าม และมีการบิดเบือนโครงสร้างค่าธรรมเนียม เช่น ธนาคารพาณิชย์แห่เปิดสาขาเพื่อบริการลูกค้า ซึ่งมีต้นทุนในการทำธุรกรรม แต่ประชาชนมองว่าไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งในความเป็นจริงธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนสาขาเฉลี่ยอยู่ที่ 120-130 บาทต่อรายการ หรือธุรกรรมบนเอทีเอ็มครั้งละ 27-30 บาทต่อรายการ ซึ่งเป็นต้นทุนระบบที่เราจะต้องแบกไว้

“ประชาชนตัวเล็กได้รับความเดือดร้อนจากโครงสร้างธรรมเนียมที่บิดเบือน จะเห็นว่าค่าโอนเงินข้ามจังหวัดเสียค่าฟีสูงถึง 20-30 บาทต่อรายการ หากไทยจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นี่คือหัวใจสำคัญการบิดเบือนของค่าฟี ซึ่งเราพยายามเปิดกว้างผ่านการเชื่อมต่อ API เพื่อไม่ให้ใครเป็นเจ้ามือใหญ่ หรือเจ้ามือเดิม จะเห็นผ่านโครงการพร้อมเพย์ หรือคิวอาร์โค้ด หรือการสร้างแซนด์บอกซ์เพื่อพัฒนา ที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็น NDID หรือ L/G การโอนเงินไปต่างประเทศที่ต้นทุนถูกลง จากเดิมที่ไทยติดอันดับค่าธรรมเนียมโอนเงินไปต่างประเทศแพงที่สุดในโลก”

2.การแก้ปัญหาผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยประชาชนเดินเข้าสาขาจะต้องไม่โดนธนาคารพาณิชย์บังคับขายประกัน โดย ธปท.ได้ทำเรื่องการให้บริการอย่างมีธรรมาภิบาล (Market Conduct) ซึ่งมีการออกกฎกติกา เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ หรือการเข้าไปดูแลกำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท เช่น จำนำทะเบียนรถที่มีผลกระทบต่อประชาชน

และ 3.ธปท.ผู้กำกับดูแล เพราะเรามีกฎกติกาล้าหลัง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎระเบียบที่ออกมาตั้งแต่ปี’40 หลายเรื่องออกมาก่อน ทำให้ ธปท.ต้องทำเรื่องกิโยตินปรับให้ทันความเสี่ยงและต้นทุนโดยรวมทั้งหมด

ยกระดับบุคลากรรับมือเทคโนโลยี
โดยกลุ่มสุดท้าย คือ การสร้างความเป็นเลิศขององค์กร บุคลากรของ ธปท. ซึ่งจะเป็นผู้ชี้นำให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งตรงไหนที่ขาดคนก็เอาเข้ามาเติม หรือการตั้งฝ่ายระบบเสถียรภาพสถาบันการเงิน ฝ่ายฟินเทค ฝ่ายตรวจสอบสถาบันเฉพาะกิจ SFIs หรือฝ่าย Data Analytic ที่สำคัญมาก เพราะสามารถจับชีพจรได้ทันท่วงที และมีประจักษ์พยาน รวมถึงการปรับให้เป็นกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นโดยใช้กลไกต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น Robotic หรือการปรับเปลี่ยนแนวความคิด (Mindset) ในการรับเรื่องของเทคโนโลยี

“โดยหัวใจของบุคลากร คือ มีฐานคิด ฐานใจ ฐานทำ ซึ่งในฐานทำจะต้องทำในสิ่งที่กล้าทำ ฐานใจจะต้องเผชิญแรงกดดันรอบด้าน เพราะเราอยู่ภายใต้ผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ จึงต้องมีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance